เจอจอดรถขวางทาง จัดการทางกฎหมายได้นะ

บทความเกี่ยวกับอสังหา

หน้าบ้านเราเป็นที่จอดรถเค้าไปซะงั้น จะออกจากบ้านแต่ละครั้งก็แสนจะหงุดหงิดใจ คุยไปดีๆ ก็หลายที หวิดจะต่อยกันก็บ่อย แบบนี้แจ้งความได้มั้ย หรือกฎหมายช่วยเราได้ยังไงบ้างนะ

 

 

ปัญหาการจอดรถขวางทางหน้าบ้าน คือหนึ่งในปัญหาที่คนอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรที่พื้นที่จำกัดหลายแห้งต้องเจอ โดยเฉพาะบ้านที่เป็นทาวน์เฮาส์ ทาวน์โฮม หรือบ้านแฝดต่างๆ ที่มักออกแบบให้มีที่จอดรถได้คันเดียว แต่ถ้าสมาชิกในบ้านมีหลายคนและมีรถหลายคัน รถที่เกินออกมาจึงมักถูกเอามาจอดไว้ข้างทางใกล้ๆ บ้าน ซึ่งถ้าอยู่หน้าบ้านตัวเองก็ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ แต่ที่ทำให้ข้างบ้านทะเลาะกันนักต่อนักก็เพราะรั้วที่จอดไว้มันไม่ใช่รั้วบ้านตัวเองนั่นเอง ซึ่งในทางกฎหมายแล้ว การจอดรถขวางทางเข้าออกบ้านคนอื่นที่เข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมาย ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของ พรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งระบุว่าผู้ขับขี่รถยนต์ไม่มีสิทธิ์จอดรถขวางทางเข้าออกบ้านคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลหรือทางสาธารณะ เพราะกฎหมายดังกล่าวระบุว่า

 

ห้ามมิให้ผู้ขับขี่หยุดรถใน 8 ลักษณะคือ

 

(1)ในช่องเดินรถ เว้นแต่หยุดชิดขอบทางด้านซ้ายของทางเดินรถในกรณีที่ไม่มีช่องเดินรถประจำทาง

(2) บนทางเท้า

(3) บนสะพานหรือในอุโมงค์

(4) ในทางร่วมทางแยก

(5) ในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามหยุดรถ

(6) ตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถ

(7) ในเขตปลอดภัย

(8) ในลักษณะกีดขวางการจราจร

 

 

การจอดรถขวางทางเข้าออกบ้านจะเข้ากับเงื่อนไขข้อ 6 และข้อ 8

 

 

และถ้าการจอดรถเป็นการสร้างความเดือดร้อนรำคาญ ก็จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 397 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาทอีกด้วย เจ้าของบ้านในกรณีนี้ถือเป็นเจ้าทุกข์ สามารถฟ้องร้องให้มีการดำเนินการตามกฎหมาย รวมถึงในบางกรณียังสามารถแจ้งตำรวจให้ออกใบสั่ง และยกรถให้พ้นจากการกีดขวางได้ด้วย

 

 

นอกจากนี้ถ้าจำเป็นต้องทรัพย์สินหรือประโยชน์ของตัวเองและผู้อื่น แต่ไม่อยู่ในสถานการณ์ที่จะขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ เจ้าของบ้านก็สามารถเคลื่อนย้ายรถที่จอดขวางทางได้ด้วยตนเอง ทั้งด้วยการใช้กำลังหรือเครื่องมือโดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย