ทำไมค่าไฟถึงแพง

บทความเกี่ยวกับอสังหา

หน้าร้อนกับค่าไฟแพงเป็นของคู่กัน หลายๆ คนก็มีคำถามว่าทำไมค่าไฟยิ่งอยู่ยิ่งแพงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่เราก็ใช้ไฟเท่าเดิม แต่ทำไมต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มมากขึ้น

 

ที่จริงค่าไฟไม่ได้เพิ่งเริ่มมาแพงในฤดูร้อนนี้ แต่ค่อยๆ ทยอยปรับขึ้นมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 แต่หลายคนอาจจะไม่ทันได้สังเกต ซึ่งการที่ค่าไฟแพงนั้นก็มีสาเหตุมาจากเหตุผลต่างๆ คือ โดยเหตุผลหลักคือการปรับค่า FT สูงขึ้น

 

 

ค่า FT คืออะไร? ทำไมมีผลต่อค่าไฟฟ้าของเรา

 

 Ft (ค่าเอฟที) ย่อมาจากคำว่า Float time หรือค่าไฟฟ้าผันแปร การลอยค่าของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้  เช่น  ราคาเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น ตามช่วงเวลาต่างๆ ที่ใช้เป็นกรอบในการคำนวณ

 

 

โดย กกพ. ชี้แจงถึงสาเหตุที่ต้องมีการปรับขึ้นค่า FT ในการผลิตไฟฟ้าว่าสาเหตุหลักมาจากราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นตามราคาพลังงานในตลาดโลก โดยเฉพาะสัดส่วน การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และมีราคาสูง รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้ม อ่อนค่าลง จึงส่งผลให้ค่า Ft เพิ่มสูงขึ้นมาก 

 

 

ซึ่งค่า Ft ที่คำนวณได้จริงประจำเดือนกันยายน - ธันวาคม 2565 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 236.97 สตางค์/ หน่วย แต่ กกพ. ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าในอัตราที่ต่ำที่สุด เท่ากับ 93.43 สตางค์/หน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพื่อช่วยเหลือผู้ใช้ไฟได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

 

 

ขณะเดียวกัน กกพ. ได้พิจารณาผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าจากสถานการณ์วิกฤตพลังงาน และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ กกพ. จึงเห็นชอบค่า Ft ขายปลีกที่เรียกเก็บประจำเดือนกันยายน - ธันวาคม 2565 เท่ากับ 93.43 สตางค์/หน่วย โดยยังไม่นำส่วนต่างของประมาณการค่า Ft ที่เรียกเก็บกับค่า Ft ที่เกิดขึ้นจริงสะสม

 

 

ในเดือนกันยายน 2564 - เมษายน 2565 มาเรียกเก็บในค่า Ft เดือนกันยายน - ธันวาคม 2565 

 

 

 ซึ่งค่า Ft จะมีการปรับทุก 4 เดือน โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะกำกับดูแลการคำนวณให้สะท้อนราคาค่าเชื้อเพลิง ตามแนวโน้มราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก และอัตราแลกเปลี่ยนที่มีผลกระทบต่อการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐในเรื่องการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนต่างๆ เช่น การให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) หรือมาตรการ Feed-in Tariff (FiT) ตลอดจนเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อการพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า

 

ค่า Ft เป็นค่าใช้จ่ายที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้และจะพิจารณาถึงผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าร่วมด้วยทุกครั้ง การปรับค่า Ft ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงนั้น จะไม่มีผลกระทบต่อผลประกอบการ (กำไร/ขาดทุน) แต่อย่างใด

 

(ขอบคุณข้อมูลจาก : PPTV)