บทความเกี่ยวกับอสังหา
เคยสงสัยกันมั้ยว่า ทำไมบางคนขอสินเชื่อบ้านผ่านง๊ายง่าย แต่บางคนขอไปกี่ครั้งทางธนาคารก็ปฏิเสธการให้สินเชื่อตลอดๆ ทั้งที่ก็ไม่ได้ทำอะไรผิดไปจากที่คนอื่นเค้าทำกัน นั่นอาจเป็นเพราะคุณยังไม่ได้มองในส่วนต่างๆ เหล่านี้ให้รอบด้านรึเปล่า
ขอสินเชื่อเพื่ออยู่อาศัยง่ายกว่าสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์
ถ้าคุณจะดัดแปลงที่อยู่อาศัยของคุณเป็นอย่างอื่น เช่นดัดแปลงเป็นโฮมออฟฟิศหรือหอพัก ทางธนาคารที่คุณขอสินเชื่ออาจจะไม่สามารถพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้คุณในรูปแบบของที่พักอาศัยได้ แต่จะต้องพิจารณาในมุมของการเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้มากกว่าเป็นที่อยู่อาศัย เช่นถ้าคุณขอเป็นหอพัก ธนาคารก็จะต้องคิดแล้วว่า ถ้าห้องว่างเกิน 50% คุณจ่ายค่างวดไม่ไหว ก็จะกลายเป็นหนี้เสีย เป็นต้น
มีคุณสมบัติที่จะขอสินเชื่อได้
คุณสมบัติเหล่านี้ในคนทั่วไปไม่ใช่สูงเตี้ยสวยขี้เหร่ การศึกษา อะไรเลย แต่เป็นคุณสมบัติของเอกสารแสดงรายได้ที่ต้องออกมาในทิศทางที่เป็นบวก เช่นมีงานประจำที่มั่นคง ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ อายุงานน้อยได้ประมาณหนึ่ง เป็นต้น
ประวัติการเงินและวินัยในการจ่ายหนี้
หลายคนชอบใช้คำว่าติดแบล็คลิสต์หรือติดเครดิตบูโรมาใช้อธิบายเวลาขอสินเชื่อไม่ผ่าน ซึ่งที่จริงการติดแบล็คลิสต์หรือเครดิตบูโรที่ว่ากันนี้ไม่มีจริง แต่เป็นการที่ประวัติการชำระหนี้มีปัญหามาก่อน มีที่มาจากพฤติกรรมการใช้หนี้ที่ไม่ตรงเวลา ทำให้ธนาคารประเมินว่าคุณมีโอกาสจะจ่ายหนี้ก้อนนี้ไม่ได้เช่นกัน
ขอวงเงินเกินกำลังชำระหรือเปล่า
ในการปล่อยสินเชื่อถ้าเป็นซื้อบ้านที่สร้างเสร็จแล้ว ธนาคารจะปล่อยกู้ไม่เกิน 80% ของราคาประเมิน ซึ่งหมายความว่าคุณต้องมีเงินก้อนอยู่ในมืออย่างน้อย 20% ของราคาขาย ทางธนาคารจึงจะพิจารณาให้ส่วนต่างที่เหลือ แต่ทั้งนี้ถ้าคุณเลือกบ้านที่ราคาสูงเกินกว่าที่คุณจะชำระได้ด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาของธนาคาร ก็จะถูกปฏิเสธการให้สินเชื่อไป
เงื่อนไขการผ่อนชำระ
ทางที่ดีที่สุดในการผ่อนบ้านให้คุ้มค่าคือการรีบผ่อนให้เหลือน้อยที่สุด เร็วที่สุด ในช่วงระยะเวลาที่สั้นที่สุด เพราะยิ่งนานคุณก็จะยิ่งเสียดอกเบี้ยมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันในคนที่มีเงินก้อนในมืออยู่ไม่มากมักจะเลือกเงื่อนไขคือการดาวน์น้อยผ่อนนาน ที่ทำให้ดอกเบี้ยบานได้เป็นเท่าตัวเลยทีเดียว แม้ผลลัพธ์จะเหมือนกัน แต่สุดท้ายการวางแผนการผ่อนชำระแบบแรกจะทำให้เราเสียดอกเบี้ยน้อยกว่า
อัตราดอกเบี้ย ปัจจุบัน แยกได้เป็น 6 แบบคร่าวๆ คือ
1. อัตราดอกเบี้ยลอยตัว คือ ขึ้นลงตามสภาวะตลาด
2. อัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดระยะเวลากู้
3. อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้นในช่วงแรก จากนั้นเปลี่ยนเป็นลอยตัว
4. อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้นแบบขั้นบันได
5. อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะหนึ่ง และปรับเป็นคงที่ใหม่ทุกรอบเวลา
6. อัตราดอกเบี้ยลอยตัวที่อยู่ในขอบเขตที่กำหนดไว้